การปลูกฝังทักษะ EF ให้ลูกน้อยด้วยนิทาน

หากพ่อแม่คือคนที่คอยสอนเรื่องการใช้ชีวิตในภาคปฏิบัติ 

นิทานก็เปรียบเสมือนภาคทฤษฎีของการใช้ชีวิต  ที่มีไว้ให้ลูกน้อยศึกษาอ่าน 

 

        ตัวละครในนิทาน จะเป็นผู้ดำเนินเรื่องโดยมีเหตุการณ์และอุปสรรคมาเพื่อเป็นบททดสอบกับพวกเขา รวมถึงมีการแนะนำแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับลูกน้อยเพื่อทำให้พวกเขามีความเข้าใจในเรื่องการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น  นี่คือกระบวนการปลูกฝังและขัดเกลาความคิด  ที่เราได้รับมาจากหนังสือนิทานโดยไม่รู้ตัว กระบวนการคิดเหล่านั้นเกิดขึ้นจากสมองส่วนหน้า หรือที่เรียกอีกชื่อว่า ทักษะแบบ EF  

 

 

 

ทักษะแบบ EF คืออะไร?   

   ทักษะ EF (Executive Function) ทักษะกระบวนการคิดของสมองส่วนหน้า ที่มีหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับ ความคิด ความรู้สึก และการกระทำ โดยสามารถแบ่งประเภททักษะได้เป็น 9 ประเภท 

    1. ทักษะความจำที่นำมาใช้งาน             

          - การนำข้อมูลหรือประสบการณ์ที่เคยได้รับกลับมาใช้ประโยชน์ 

    2. ทักษะการยับยั้งชั่งใจ, คิดไตร่ตรอง 

          - สามารถควบคุมความต้องการของตนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ไม่ทำอะไรโดยไม่คิด ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น 

    3. ทักษะการยืดหยุ่นทางความคิด 

         - การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ไม่เอาตนเองเป็นใหญ่และรู้จักมองคนส่วนมาก 

    4. ทักษะการใส่ใจจดจ่อ 

         - มีสมาธิ สามารถจดจ่อหรือทำอะไรสักอย่างได้เป็นเวลานานโดยไม่วอกแวก 

    5. การควบคุมอารมณ์ 

         - การควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในความเหมาะสม ไม่โมโหร้าย อารมณ์รุนแรง  

    6. การประเมินตัวเอง 

         - การประเมินตนเองเพื่อหาข้อผิดพลาดและยอมรับมันโดยพร้อมจะแก้ข้อผิดพลาดนั้นในอนาคต 

    7. การริเริ่มและลงมือทำ 

         - ความสามารถในการลงมือทำโดยไม่กลัวความผิดพลาด หรือ ความเสียหายจากสิ่งที่ทำ ส่งเสริมให้เด็กเป็นคนทำงานตรงเวลาไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง 

    8. การวางแผนและดำเนินงาน 

        - ความสามารถในการจัดการกระบวนการทำงานในชีวิตประจำวัน มองเห็นถึงภาพรวมและผลกระทบของงาน เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาอย่างถูกต้อง 

    9. การมุ่งเป้าหมาย 

        - มีการตั้งเป้าหมายชีวิตและพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย พร้อมจัดการอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาได้อย่างไม่ย่อท้อ 

 

 

 

ถ้า EF บกพร่องจะเกิดอะไรขึ้น?        

        หาก EF บกพร่องหรือถูกพัฒนามาไม่ดี จะส่งผลทำให้ควบคุมพฤติกรรมได้น้อยลง และมีผลต่อความสามารถทางกระบวกการจัดการความคิด ส่งผลให้ ความจำไม่ดี สมาธิสั้น  มีความก้าวร้าวทางอารมร์สูง และมีความเสี่ยงในการเป็นอัลไซเมอร์หากไม่ได้รับการแก้ไขพฤติกรรมอย่างถูกต้อง 

        ทักษะทางด้าน EF นั้นจึงมีความสำคัญมาก หากไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างถูกทาง โดยปัจจุบันนี้มีกิจกรรมอยู่มากมายหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือการเล่านิทานให้เด็กเล็กฟัง เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เด็กตั้งแต่ยังเล็ก 

        ซึ่งนิทานส่วนใหญ่ในปัจจุบันสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะบางเรื่องถูกแต่งขึ้นเพื่อมาส่งเสริมทางด้าน EFโดยเฉพาะ และยังช่วยปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม รวมถึงสร้างทัศนคติที่ดีให้แก่เด็ก นิทานที่จะเล่าควรเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวหรือเพื่อน เพื่อทำให้ลูกน้อยเห็นภาพมากยิ่งขึ้น หลังจากที่เล่าจบ  ก็ควรมีการถามคำถามซ้ำเพื่อให้เด็กได้มีการใช้ความคิดและจิตนาการของเขาในการสมมุติเหตุการณ์ขึ้นมา “ หากเป็นเรา  จะหาทางออกยังไงดี? ”